รถไฟขนส่งสินค้าฉงชิ่ง-ยุโรป เชื่อมรางสู่อาเซียนแล้ว
240 Views
อังคารที่ 27 มิถุนายน 2566
รถไฟขนส่งสินค้าฉงชิ่ง-ยุโรป เชื่อมรางสู่อาเซียนแล้ว
การพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงการขนส่งโลจิสติกส์ของมหานครฉงชิ่งยังคงเดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง ล่าสุด “อวี๋ซินโอว” รถไฟขนส่งสินค้าฉงชิ่ง-ยุโรปได้ขยายรางลงใต้สู่ภูมิภาคอาเซียนแล้ว โดยเป็นการเชื่อมเส้นทางขนส่งระบบราง+ราง ที่เชื่อมโยงระหว่าง “ยุโรป-ฉงชิ่ง-อาเซียน” เพื่อเพิ่มช่องทางขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการ
คณะกรรมการเศรษฐกิจและสารสนเทศมหานครฉงชิ่ง เผยว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า“ยุโรป-ฉงชิ่ง-อาเซียน” เที่ยวปฐมฤกษ์ในระบบราง+ราง ได้เคลื่อนขบวนออกจากมหานครฉงชิ่งแล้ว โดยบรรทุกอุปกรณ์เครื่องจักรกล เครื่องมือเพื่อสุขภาพ และวัสดุอุตสาหกรรม ที่ขนส่งมาจากยุโรปโดยผ่านเส้นทาง “อวี๋ซินโอว” มุ่งหน้าไปยังด่านผิงเสียง นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อออกจากประเทศจีนและต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และกระจายสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศในอาเซียน
สำหรับขบวนรถไฟสินค้าเที่ยวกลับ อาเซียน-ฉงชิ่ง-ยุโรป เตรียมที่จะบรรทุกสินค้าที่โดดเด่นของเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อาทิ ข้าว ผลไม้ ผลไม้อบแห้ง เมล็ดกาแฟ อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน ขณะที่สินค้าเที่ยวที่ขนส่งมาจากจีนและยุโรป ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรกล สินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน
การเชื่อมรางของเส้นทางขนส่ง “อวี๋ซินโอว” ที่ปัจจุบันได้เชื่อมต่อถึงเวียดนามแล้ว ในอนาคตมหานครฉงชิ่ง มีแผนการขยายรางเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย (Trans-Asian Railway) ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ (ไทย) ลาว และสิงคโปร์ นับเป็นการเชื่อมระหว่างจีน (ฉงชิ่ง) กับคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศเหล่านี้มีความใกล้ชิดและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
ปัจจุบัน มหานครฉงชิ่ง มีการเพิ่มช่องทางการขนส่งโลจิสติกส์กับภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องทั้งในการขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมไปถึงการบูรณาการการขนส่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ มหานครฉงชิ่งได้เริ่มต้นเส้นทางขนส่งทางบกฉงชิ่ง-อาเซียน เส้นทางระบบราง+น้ำ (อวี๋กุ้ยซิน คือ ฉงชิ่ง-กว่างซี-สิงคโปร์) จนมาถึงเส้นทางระบบราง+ราง “ยุโรป-ฉงชิ่ง-อาเซียน” ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ใช้ประโยชน์จากเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้ากับต่างประเทศ และที่สำคัญโครงข่ายเส้นทางขนส่งทั้งหมด ย่อมส่งผลดีต่อโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยสู่ตลาดจีนและตลาดสากล